MOC 100 Years facebook youtube  
Header Image
ประวัติความเป็นมา
watermark
 

ประวัติกระทรวงพาณิชย์

2457

จากอาณาจักรสุโขทัย ศูนย์กลางการค้าทางบกของภูมิภาค สู่สมัย กรุงศรีอยุธยาที่สยามเจริญสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าทางทะเล กับชาติตะวันตก ต่อมาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ขยายการค้าทางทะเลกับประเทศจีนและชาติตะวันตกอื่น ๆ โดยมีอังกฤษเข้ามาทำสนธิสัญญาทางการค้าเป็นประเทศแรก เมื่อเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง สยามเร่งปฏิรูปประเทศในทุกด้านเพื่อให้ทัดเทียมชาติตะวันตก ขณะที่งานราชการด้านการค้ายังคงรวมอยู่ในกระทรวงอื่น

2463-2469

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สภาเผยแผ่พาณิชย์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมงานที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์ และเพื่อศึกษาพัฒนากฎหมายการค้า แก้ไขข้อเสียเปรียบในสนธิสัญญาทางการค้า ตลอดจนขยายตลาด การค้าต่างแดนเพื่อเพิ่มรายได้ช่วงที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Great Depression) เมื่อการค้าภายใน และการค้าโลกฝืดเคือง ประเทศตัดทอนขายจ่ายด้วยการยุบหน่วยงานราชการ ปรับลดจำนวนข้าราชการ และควบรวมกระทรวงเข้าด้วยกัน

2475-2500

กระทรวงพาณิชย์เปลี่ยนชื่อ ปรับโครงสร้าง ตั้งหน่วยงานกรมและกองขึ้นใหม่ ซึ่งมีบทบาทสำคัญสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศ "สยาม" เปลี่ยนชื่อเป็น "ไทย" ใช้นโยบายรัฐนิยมเกี่ยวกับการพาณิชย์ เน้นให้คนไทยใช้ของที่ผลิตโดยคนไทย เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทรวงได้จัดทำดัชนีราคาและข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าที่ซื้อขายกันในตลาดออกเผยแพร่แก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก ขณะที่ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงและ องค์การระหว่างประเทศ

2501-2531

เปิดฉากแข่งขันกลุ่มการค้าทั้งยุโรปและอาเชียน พาณิชย์โลกขยายตัวด้วยเส้นทางการค้าทางอากาศ กระทรวงพาณิชย์เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศเป็นครั้งแรก และจัดตั้งศูนย์พาณิชยกรรมในต่างประเทศอย่างเป็นทางการ โครงสร้างการค้าของไทยเริ่มเปลี่ยนจากสินค้าเกษตรมาสู่สินค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

2532- ปัจจุบัน

ไทยประสบปัญหาภาวะค่าครองชีพสูง จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ "คาราวานสินค้าลดค่าครองชีพ ปี 2533" และโครงการ "ธงฟ้าราคาประหยัด" เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ยุคนี้เป็นยุคแห่ง การสร้างตราสัญลักษณ์และภาพลักษณ์สินค้าทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร ทวีความสำคัญ "กรมทรัพย์สินทางปัญญา" ถือกำเนิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองและปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ระหว่างที่ไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ (ต้มยำกุ้ง) โลกภายนอกเริ่มก้าวเข้าสู่การยกระดับทางเทคโนโลยีสารสนเทศ อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของการพาณิชย์ในระยะต่อมา เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป บทบาทของ "กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์" มีส่วนช่วยตอบสนองพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการซื้อขายสินค้าออนไลน์ และเมื่อธุรกิจพาณิชย์ e-Commerce ยกระดับการแข่งขันและสามารถสร้างเม็ดเงินได้มหาศาล กระทรวงจึงได้จัดตั้งเว็บไซต์ตลาดกลาง ซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์ อำนวยความสะดวก ให้ผู้ซื้อทั่วโลกสามารถติดต่อซื้อขายกับผู้ส่งออกไทยได้อย่างง่ายดาย ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้ประกอบการไทยและผู้ซื้อในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์หน่วยงานหลักขับเคลื่อน เศรษฐกิจการค้าของประเทศ กำหนดเป้าหมายและทิศทาง ก้าวสู่ศตวรรษที่สองไว้อย่างชัดเจน สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2559 -2579) ที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม สร้างความมั่นคง มั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

 

"กระทรวงท่าเตียน" ที่สื่อมวลชนมักจะเรียกขานเมื่อกล่าวถึงกระทรวงพาณิชย์นั้นก็เพราะสถานที่ตั้งของกระทรวงพาณิชย์อยู่บริเวณท่าเตียน สมรภูมิของยักษ์วัดแจ้งกับยักษ์วัดโพธิ์ตามตำนานที่คนไทยทราบกันดี แล้วทำไมกระทรวงพาณิชย์จึงมาอยู่ที่นี่...

          ในเรื่องนี้จากบันทึกของขุนวิจิตรมาตรา (ส่ง กาญจนาคพันธ์) กล่าวไว้ว่าเมื่อแรกเริ่มตั้งกระทรวงในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น เจ้ากระทรวงหรือเสนาบดีมักจะใช้บ้านของตัวเองเป็นสถานที่ทำการของกระทรวงแต่กระทรวงพาณิชย์ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ ยังไม่มีกระทรวงเป็นของตัวเองก่อนหน้านั้นจึงได้ก่อตั้งอาคารขึ้นใหม่ตามประวัติที่ขุนวิจิตรมาตราสืบค้นไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ดังนี้ ตึกที่ว่าการกระทรวงพาณิชย์ (เศรษฐการ) สร้างขึ้นในที่ดินแปลงหนึ่งเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธง มีถนนสามสายผ่านรายรอบทั้งสามด้านคือถนนเขตต์ ถนนสนามไชย และถนนมหาราช แต่เดิมนั้นที่ดินบริเวณนี้และพื้นที่รอบ ๆ เป็นที่ตั้งของวังต่าง ๆ เช่น วังกรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์ วังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช วังพระองค์เจ้างอนรถ วังพระองค์เจ้าเปียก วังกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ วังกรมหมื่นอมเรนทร์บดินทร์ วังพระองค์เจ้าลำยอง วังกรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ วังกรมหมื่นภูมินทร์ภักดี  เป็นต้น             

          ซึ่งบริเวณของตึกที่ทำการกระทรวงพาณิชย์นั้นเป็นพื้นที่ของวัง ๓ แห่ง คือ วังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช วังกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณและวังกรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ ตัวตึกกระทรวงพาณิชย์สร้างเป็นสามชั้นโอ่โถงงดงามฝีมือทำอย่างประณีตมีลวดลายเป็นฝรั่งกลาย ๆ จัดว่าเป็นตึกสมัยใหม่แปลกกว่าที่ทำการอื่น ๆ ชั้นล่างตอนหนึ่งสร้างเฉพาะสำหรับให้เป็นสำนักงานกลางมาตราชั่งตวงวัด โดยตรง ซึ่งเมื่อเสร็จแล้วได้ขนเอาแบบมาตรา (Standard) เครื่องชั่ง ตวง วัด จากกระทรวงเกษตราธิการมาติดตั้งเป็นหลักสำคัญของกระทรวงที่ว่าด้วยการค้าขายมาจนถึงทุกวันนี้

          สัญลักษณ์หรือตราประจำกระทรวงในสมัยนั้น มีวิวัฒนาการน่าสนใจว่า ในสมัยกระทรวงเกษตรพาณิชยการสมัยแรก เสนาบดีถือตราพระพิรุณทรงนาค พระพิรุณเป็นเทวดาเจ้าน้ำ เป็นผู้บันดาลให้ฝนตก นาคก็เกี่ยวกับน้ำ ตราพระพิรุณทรงนาคจึงเกี่ยวกับกสิกรรมทำไร่ไถนาซึ่งเป็นของสำคัญมาแต่โบราณโดยตรง เมื่อตั้งเป็นกระทรวงพาณิชย์ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ มีประกาศให้กระทรวงพาณิชย์ ใช้ตราเป็นรูปตุ้ม เครื่องชั่งทะนาน และไม้วัด ผูกกันเป็นลาย ตรานี้จึงเป็นความหมายเกี่ยวกับการพาณิชย์สอดคล้องต้องกันกับประวัติของกระทรวงและตัวตึกที่ว่าการดังบรรยายมาแต่ต้นในคราวเดียวกันนี้ประกาศให้กระทรวงพาณิชย์ใช้สีมอคราม เป็นสีเครื่องหมายกระทรวง ต่อมาเมื่อรวมกระทรวงพาณิชย์เข้ากับกระทรวงคมนาคม เรียกว่า "กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม" ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ มีประกาศให้ใช้ ตรารูปพระวิศุกรรมเป็นตรากระทรวง สีเครื่องหมายกระทรวงเปลี่ยนเป็นสีเลือดหมู ตราพระวิศุกรรมเป็นตราตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการเดิม ซึ่งภายหลัง เปลี่ยนมาเป็นกระทรวงคมนาคม และใช้ตราพระรามทรงรถ

          เมื่อเอางานคมนาคมมารวมเข้ากับงานพาณิชย์และถือว่างานพาณิชย์เป็นงานสำคัญ จึงกลับไปใช้ตราพระวิศุกรรม พระวิศุกรรมเป็นเทวดาชำนาญในการช่างตลอดจนการก่อสร้างที่มาเป็นตรากระทรวงพาณิชย์ก็เนื่องจากเป็นตราเก่าและงานของโยธาก็คลี่คลายมาเกี่ยวข้องกับงานพาณิชย์เป็นลำดับมาในปัจจุบัน ตราประจำกระทรวงคงเป็นตราพระวิศุกรรมแต่สีเครื่องหมายกระทรวงเปลี่ยนไปใช้สีมอครามตามเดิมที่บานประตูเหล็กใหญ่ของตัวกระทรวงมีแผ่นโลหะกรมเป็นตราภาพงูสองตัวพันไม้ไขว้กัน ตอนบนมีปีกสองข้างติดอยู่ทั้งสองบานเป็นคู่กันเข้าใจว่าตรานั้นเป็นไม้เท้ากายสิทธิ์ที่เรียกว่า คาดิวซุส (Caduceus) ซึ่งเป็นไม้ถือของเทวดากรีกมีนามว่า เฮอร์เมส (Hermes) และชาวโรมันเรียกว่าเมอร์คิวรี (Mercurius) ตามประวัติข้างกรีกมีว่า เฮอเมสเป็นโอรสของซูสมหาเทพเป็นช่างเทวดาเฉลียวฉลาดในเชิงประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น ประดิษฐ์พิณ ประดิษฐ์ตัวอักษร ตัวเลข และที่สำคัญก็คือ ประดิษฐ์เครื่องชั่ง ตวง วัด เฮอร์เมสเป็นที่เคารพบูชาของพ่อค้าวาณิชทั่วไป


 


Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar